Rudiment คือ เทคนิคการเล่นกลองขั้นพื้นฐาน บรรดามือกลองทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นในวงดุริยางค์ วงโยธวาทิต หรือวงดนตรีสากลแบบแบนด์ ต้องเริ่มจากการฝึกฝน Rudiment ต่างๆ จนคล่องแคล่วก่อนที่พวกเขาจะได้เริ่มต้นหัดเพลงต่างๆ ตามที่ต้องการ
การฝึก Rudiment มีประโยชน์อย่างมาก เพราะมันช่วยทั้งการบังคับข้อมือในการเล่นลูกเล่นต่างๆ และยังช่วยฝึกการอ่านโน้ตอีกด้วย
Rudiment มีมากมายหลายรูปแบบ แต่ในบทความนี้เราจะขอยก Rudiment พื้นฐาน 5 แบบ มาให้ฝึกฝน พร้อมแนะนำท่อนเพลงที่ใช้ลูกเล่นเหล่านั้นให้ลองเปิดฟังกันดู
สัญลักษณ์ที่แสดงในโน้ตตัวอย่าง
R = มือขวา
L = มือซ้าย
r = มือขวาเล่นเบา
l = มือซ้ายเล่นเบา
1.Single Stroke
Rudiment แรกสุดที่มือกลองทุกคนต้องผ่านการฝึกก็คือ Single Stroke นั่นเอง การเล่น Rudiment นี้ก็ทำได้ง่ายๆ คือ การตีมือขวากับมือซ้ายสลับกัน (RLRL) โดยแนะนำให้ฝึกเล่นจากค่าโน้ตเขบ็ต 1 ชั้นก่อน แล้วเพิ่มเป็นเขบ็ต 2 ชั้น โดยฝึกพร้อมเมโทรนอมและให้เหยียบเท้าในจังหวะที่ 1 2 3 และ 4 Single Stroke นับว่าเป็น Rudiment พื้นฐานที่เอาไว้ใช้เล่นลูกส่งในเพลงต่างๆ
ตัวอย่างเพลงที่ใช้ Single Stroke
จิ๊จ๊ะ (Silly Fools) – สแนร์ท่อน Intro
วัดใจ (Silly Fools) – ลูกส่งหลังท่อนฮุค
2.Double Stroke
เป็นพื้นฐานที่ใช้เริ่มฝึกฝนก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นการรัวกลอง (โดยเฉพาะกับการเล่นสแนร์) สามารถฝึกได้ทั้งในรูปแบบโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น และเขบ็ต 2 ชั้น โดยตีมือขวา 2 ครั้งสลับกับมือซ้าย 2 ครั้ง (RRLL) โดยฝึกพร้อมกับเมโทรนอมและเหยียบกระเดื่องในจังหวะ 1 2 3 และ 4 เป็นค่าโน้ตตัวดำ แนะนำให้ฝึกช้าๆ และพยายามเล่นให้ชัด แล้วจึงเพิ่มความเร็วขึ้นจนกลายเป็น Double Stroke Roll
ตัวอย่างเพลงที่ใช้ Double Stroke
เรือเล็กควรออกจากฝั่ง (Bodyslam) – สามารถใช้เล่นรัวสแนร์ท่อน Outro ได้
3.Paradiddle
เพิ่มความซับซ้อนขึ้นอีกนิดกับ Rudiment ที่มีชื่อว่า Paradiddle วิธีการเล่นก็ให้เราจำง่ายๆ ว่า “ขวาซ้ายขวาขวา ซ้ายขวาซ้ายซ้าย” หรือ RLRR LRLL หนึ่งชุด 8 ตัวโน้ต โดยฝึกจากเบ็ด 1 ชั้นก่อนแล้วจึงปรับความเร็วขึ้นเป็นเขบ็ต 2 ชั้น และเราสามารถฝึกสลับมือกับขาได้อีกด้วย โดย R แทนที่ด้วยขาขวาที่เหยียบเบสดรัม และ L เล่นมือซ้ายตีสแนร์ โดยให้มือขวาตีไฮ-แฮทเป็นเขบ็ต 1 ชั้น
ตัวอย่างเพลงที่ใช้ Paradiddle
เข้าทาง (Potato) – จังหวะกลองท่อนที่กีต้าร์เล่นริฟท์หลังโซโล่
บ้าบอ (Silly Fools) – จัวหวะกลองท่อนโซโล่กีต้าร์
4.Flam
Flam คือ การเล่นสองมือแบบเกือบจะพร้อมกัน เราจะแยกเป็น Flam มือขวา และ Flam มือซ้าย ซึ่งจะเป็นมือที่ตีลงบนหนังกลองทีหลัง แต่จะนับเป็นมือหลังและมีเสียงดังกว่า ลักษณะรูปแบบจะเป็น lR (Flam มือขวา ) และ rL (Flam มือซ้าย) โดยมือที่ตีก่อนจะเล่นเสียงเบาและเน้นที่มือหลัก มักจะเล่นควบคู่ไปกับเบสดรัมโดย เหยียบเบสดรัมสลับกับมือตี Flam และ Flam มักถูกใช้เป็นโน้ตตัวแรกในท่อนส่งอีกด้วย
ตัวอย่างเพลงที่ใช้ Flam
ยิ่งโตยิ่งสวย (Blackhead) – จัวหวะกลองท่อนแรก เล่น Flam กับเบสดรัม
5.Drag
อีกหนึ่ง Rudiment ที่มีความซับซ้อนเล็กน้อยและต้องอาศัยการฝึกฝนกันสักหน่อย เทคนิคนี้ต้องอาศัยไดนามิกหรือความหนักเบาเข้ามาช่วยด้วย (จริงๆ แล้วในทุก Rudiment ที่กล่าวมาควรฝึกให้มีไดนามิกทั้งหมด) การเล่น Drag คือ การเล่น Double Stroke เบาๆ ตัวมือข้างหนึ่งแล้วตีเน้นด้วยมืออีกข้าง รูปแบบที่ได้จะเป็น llR และ rrL ส่วนมากเทคนิคนี้จะใช้ในลูกส่ง Intro เข้าเพลงโดยเล่นกับสแนร์
ตัวอย่างเพลงที่ใช้ Drag
จูบ (Jetset’er) – สแนร์ท่อนส่งเข้าเพลง
ความจริงในใจ (Crescendo) – ท่อนส่งเข้าเพลง
และนี่ก็คือ Rudiment พื้นฐานทั้ง 5 ที่เราสามารถนำไปปรับใช้ในการเล่นเพลงต่างๆ ได้มากมาย จำไว้ว่าการเริ่มต้นฝึกควรเริ่มจากการเล่นช้าๆ ให้ชัดเจนเสียก่อน และต้องเปิดเมโทรนอมควบคู่ไปด้วยตลอดเวลาที่ฝึกเพื่อให้ได้ไทมิ่งที่แม่นยำนั่นเอง